ปฐมบทแห่งการเดินทางสู่เมืองมัยซอร์ ประเทศอินเดีย ของครูจิมมี่ (Jimmy in Mysore 1)

ปฐมบทแห่งการเดินทางสู่เมืองมัยซอร์ ประเทศอินเดีย ของครูจิมมี่ (Jimmy in Mysore 1)
กำหนดการของผม ในการเดินทางมาฝึกโยคะที่ KPJAYI. (K Pattabhi Jois Ashtanga Yoga Institute) เมืองมัยซอร์ ประเทศอินเดีย คือ 27 ธันวาคม 2555 – 30 มกราคม 2556

guruji
(ท่าน ศรี เค ปัถพี โชอิส ครูผู้ก่อตั้ง สถาบัน KPJAYI.)

ผมมีความใฝ่ฝันที่จะมาฝึกโยคะที่เมืองมัยซอร์ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่สมัยที่ท่าน ศรี เค ปัถพี โชอิส ยังคงมีชีวิตอยู่แล้วล่ะครับ หลังจากที่ได้ทราบว่าท่านเป็นกูรูทางด้านโยคะชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงมากๆ และท่านได้เป็นผู้ถ่ายทอดสรรพวิทยาต่างๆทางด้านโยคะให้กับครูโยคะที่มีชื่อเสียงมากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ริชาร์ด ฟรีแมน, เดวิด สเวนสัน(ครูโยคะผู้เป็นไอด่อลของผม), คิโน แม็คเกรเกอร์, ทิม มิลเล่อร์, เดวิด ไลฟ์, ชารอน แกนน่อน และครูโยคะที่มีชื่อเสียงท่านอื่นๆอีกมากมายทั่วโลก มันเป็นเหมือนไฟปรารถนาที่เกิดขึ้นมาในใจของผมอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้นบางช่วงเวลา, บางจังหวะของชีวิต ไฟปรารถนาดังกล่าวนี้อาจจะริบหรี่ลงไปบ้าง แต่ไฟปรารถนานี้ก็ไม่เคยดับมอดหมดไปจากใจผมได้เลย

เรื่องก็มาประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ผมมีความรู้สึก และถามตัวเองว่า ทุกวันนี้เราสอนโยคะมากเกินไปไหมเนี่ย? สอนแบบไม่มีวันหยุดเป็นกิจจะลักษณะมานานเท่าไหร่แล้ว? ซึ่งเมื่อเรายิ่งสอนเยอะ..เวลาในการฝึกฝนร่างกายของตัวเราเองก็จะยิ่งลดน้อยลงไปด้วย แล้วผมก็ได้รับคำตอบจากส่วนลึกของหัวใจตัวเองว่า ควรจะหยุดพักการสอนบ้าง เพื่อไปฝึกฝนตนเองอย่างจริงจัง ถือเป็นการชาร์จแบตเตอร์รี่ให้กับตัวเราเอง ทันใดนั้นไฟปรารถนาอันแรงกล้าในใจของผมก็ดูเหมือนจะลุกโชนขึ้นมาทันที

เรื่องนี้ผมได้มีการตระเตรียมวางแผนล่วงหน้ามาเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ รวบรวมทุนทรัพย์ รวมจนถึงการเคลียร์คิวงานสอนของผม โดยเรื่องดังกล่าวนี้ผมได้บอกกล่าวกับภรรยาของผมและทุกๆคนในครอบครัวเพื่อให้รับทราบและพิจารณาอนุมัติไว้ล่วงหน้าแล้ว

การที่เราจะมาฝึกที่ K Pattabhi Jois Ashtanga Yoga Institute เมืองมัยซอร์นี้ได้นั้น เราจะต้องทำการส่งใบสมัครออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของ KPJAYI ล่วงหน้า 4เดือน ก่อนกำหนดการที่เราจะเดินทางมาฝึก ปัญหาสำคัญก็คือ ผมไม่ได้รับอีเมล์ตอบกลับมาสักที อีกเพียงเดือนเดียวใกล้ถึงกำหนดการที่ผมตั้งใจจะไปฝึกที่มัยซอร์แล้วด้วย ผมก็เลยพยายามทำทุกวิถีทางเลยล่ะครับเพื่อจะให้ได้รับการตอบรับ เริ่มจากส่ง อีเมล์ไปถามทุกวันๆ รวมจนถึงโทรศัพท์ทางไกลจากเมืองไทยมาทวงถามถึงการตอบรับให้มาฝึกที่มัยซอร์ และจากความพยายามของผมในท้ายที่สุดผมก็ได้มาฝึกที่มายซอร์ล่ะครับ

พอทราบว่าจะต้องได้เดินทางมาที่มัยซอร์ ประเทศอินเดียแน่ๆแล้ว

Jimmy & Ittirit
(ครูจิมมี่ และคุณอิทธิฤทธิ์ ประคำทอง)
คนแรกที่ผมปรึกษาถึงเรื่องการเดินทางมายังเมืองมัยซอร์ อินเดีย ก็คือ คุณอิทธิฤทธิ์ ประคำทอง(พี่อิท) คอลัมนิสต์อิสระเกี่ยวกับเรื่องโยคะ และการท่องเที่ยว, เจ้าของสื่อโยคะออนไลน์บนโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค”อรุโณทัย”แถมคุณอิท ยังผ่านการอบรมหลักสูตรครูสอนโยคะของสถาบันศิวนันทะ ที่ประเทศอินเดียมาแล้วด้วย จากการที่มักจะได้พูดคุยกับคุณอิทเป็นประจำเลยทราบว่า ช่วงที่คุณอิท ไปอบรมหลักสูตรครูโยคะที่ประเทศอินเดียนั้น(ไม่นานนี้เอง) คุณอิทได้มีเวลาช่วงหนึ่งไปตระเวนฝึกโยคะที่เมืองมัยซอร์ ผมจึงไม่ลังเลใจที่จะสอบถามข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับเมืองมัยซอร์จากคุณอิท ก็ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาอย่างมากมาย ก็มีบ้างที่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโยคะ ส่วนใหญ่ข้อมูลที่ได้จากคุณอิทจะเป็นเรื่องของ การเดินทาง อาหารการกิน วิถีชีวิตผู้คน และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเมืองมัยซอร์ ได้มาเยอะเลยล่ะครับ

Jimmy & Oum
(ครูจิมมี่ และครูอุ้ม, สุชาวดี)
คนที่สองที่ผมโทรไปปรึกษาก็คือ ครูอุ้ม, สุชาวดี เนื่องจากครูอุ้ม คือครูโยคะชาวไทยคนแรกที่ได้รับการรับรองจากท่าน คุรุชี(ศรี เค ปัถพี โชอิส)ให้สามารถสอนโยคะในสไตล์ อัษฎางคโยคะได้ จากการที่ได้อยู่ในแวดวงของการสอนโยคะมาอย่างยาวนานพอสมควร จึงทำให้ผมได้มีโอกาสรู้จักกับครูอุ้ม ก็ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์จากผู้มีประสบการณ์มาอย่างมากมายเลยล่ะครับ

แต่ในใจก็คิดขึ้นมาว่าครูอุ้มเขาเป็นผู้หญิงข้อมูลเพิ่มเติม ที่น่าจะเหมาะสมกับเราน่าจะมาจากผู้ชายที่มีประสบการณ์ในการมาฝึกที่เมืองมัยซอร์ ประเทศอินเดีย

Jimmy & Boonchu
(ครูจิมมี่ และครูบุญชู)

คนที่สามที่ผมโทรไปปรึกษาก็คือ ครูบุญชู, ครูบุญชู คือชาวไทยท่านที่สอง ที่ได้รับการรับรองจากครู ศรี อาร์ สารัถ(หลานชายของท่าน ศรี เค ปัถพี โชอิส) ให้สามารถสอนโยคะในสไตล์ อัษฎางคโยคะได้ จริงๆแล้วครูบุญชูไม่ค่อยได้อยู่ในเมืองไทยสักเท่าไหร่น่ะครับ ครูบุญชูเริ่มฝึกอัษฎางคโยคะครั้งแรกกับครูคิโน แม็คเกรเกอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นครูที่สร้างแรงบันดาลใจสำคัญให้ครูบุญชูเดินทางมาอินเดียและอุทิศตนเพื่อการฝึกโยคะกับครู ศรี อาร์ สารัถ ที่เมืองมัยซอร์ ผมได้มีโอกาสรู้จักกับครูบุญชูครั้งแรกตอนที่ครูบุญชูมาสอนโยคะสไตล์มัยซอร์แทนครูไนเจล มาแชล ที่ฟิตสตูดิโอ ก็ได้ขอมูลดีๆมามากมายเช่นกันครับ

IMG_3039
(ครูไนเจล มาแชล และครูจิมมี่)
และแล้วก็ได้ทราบข้อมูลว่ามีครูไนเจล มาแชล มาฝึกอยู่ที่เมืองมัยซอร์ก่อนหน้าที่ผมจะเดินทางมาเป็นเดือนแล้ว ทั้งครูอุ้มและครูบุญชูก็เลยแนะนำให้ผมติดต่อกับครูไนเจลผ่านทางเฟสบุ๊ค เพื่อให้ครูไนเจลได้ช่วยประสานงานทุกๆอย่างให้ผม เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางมาที่เมืองมัยซอร์ ประเทศอินเดีย ผมขอกล่าวถึงครูไนเจล มาแชล ให้ทุกๆท่านได้ทราบข้อมูลพอสังเขป ผมได้พบและรู้จักกับครูไนเจลครั้งแรกตอนที่ครูไนเจล มาสอนโยคะในสไตล์มัยซอร์ตอนเช้าตรู่ที่ฟิตสตูดิโอ, ครูไนเจล มาแชล คือครูโยคะชาวอังกฤษซึ่งได้สอนโยคะในสไตล์อัษฎางคโยคะอยู่ในเมืองไทยมาเนิ่นนาน เคยสอนอยู่ในสตูดิโอโยคะชั้นนำของเมืองไทย แล้วก็ยังตระเวนสอนโยคะในสไตล์มายซอร์ทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งครูไนเจลก็เป็นครูโยคะอีกท่านหนึ่งที่ได้รับการรับรองจากท่าน คุรุชี(ศรี เค ปัถพี โชอิส)ให้สามารถสอนโยคะในสไตล์ อัษฎางคโยคะได้ และผมก็ทำการติดต่อขอความช่วยเหลือจากครูไนเจล โดยครูไนเจลก็ได้รับปากว่าจะช่วยประสานงานให้ทั้งในเรื่องของที่พักรวมจนถึงรถรับส่งจากสนามบินมาที่เมืองมัยซอร์

และเมื่อทุกๆอย่างพร้อมแล้วการเดินทางสู่เมืองมัยซอร์ ประเทศอินเดีย ครั้งแรกในชีวิตของผมเพื่อมาฝึกโยคะก็กำลังจะเริ่มขึ้น

โปรด ติดตามตอนต่อไป…

ขอพลังแห่งโยคะ ความรักและศรัทธาจงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

No comments yet.

Leave a Reply