ตามรอยกูรูโยคะเมืองไทย แรงบันดาลใจ ในการดูแลสุขภาพองค์รวมแบบยั่งยืน
ตามรอยกูรูโยคะเมืองไทย แรงบันดาลใจ ในการดูแลสุขภาพองค์รวมแบบยั่งยืน(ภาคแรก..บรมครูโยคะของเมืองไทย ครูชด หัศบำเรอ)
ในวงการโยคะเมืองไทย จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งจากหนังสือ ตำรา และจากคุณครูโยคะระดับอาวุโสของเมืองไทยหลายๆท่าน จึงทำให้เราพอจะทราบข้อมูลว่า บุคคลซึ่งถือได้ว่า เป็นผู้ที่ได้นำพาศาสตร์แห่งโยคะเข้ามาสู่เมืองไทยเราเป็นท่านแรกๆ น่าจะเป็น คุณครูชด หัศบำเรอ
ด้วยความที่ว่า ไอ้ผมเองนี่แหละครับ ที่ดันเป็นคนขี้สงสัย ชอบตั้งคำถาม โน่น นี่ นั่น มันไปเรื่อย จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ผมก็เลยสงสัยว่า มันน่าจะต้องมีเหตุผล หรือแรงจูงใจอะไรแน่ๆ ที่ทำให้คุณครูชด หัศบำเรอ เกิดแรงบันดาลใจในการเริ่มที่จะฝึกโยคะ และได้นำพาศาสตร์แห่งโยคะเข้ามาสู่เมืองไทย ซึ่งผมเองก็คิดว่าหลายๆท่าน ก็น่าจะเกิดความสงสัยเช่นเดียวกันกับผม ดั้งนั้น ผมจึงนำความสงสัยดังกล่าวนี้ของผม มาสอบถาม พูดคุยกับบุคคลท่านหนึ่ง ที่น่าจะทราบข้อมูล และประวัติความเป็นมา เป็นไปต่างๆ ของคุณครูชด หัศบำเรอ เป็นอย่างดี นั่นก็คือ คุณครูหนู(ชมชื่น สิทธิเวช) คุณครูโยคะระดับอาวุโส ที่ได้รับการยอมรับจากพวกเราในวงการโยคะ ว่า ณ ปัจจุบันนี้ ท่านคือบรมครูโยคะหมายเลขหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งคุณครูหนู เป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดศาสตร์แห่งโยคะโดยตรงจากคุณครูชด หัสบำเรอ และเป็นผู้ที่สืบทอดเจตนารมณ์การสอนโยคะต่อจากคุณครูชด หัศบำเรอ มาจนถึงปัจจุบันนี้
คุณครูหนู(ชมชื่น สิทธิเวช) ให้เกียรติมากๆในการนั่งพูดคุยกับผม และเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับการฝึกโยคะของคุณครูชด หัศบำเรอ ให้ผมฟังแบบเป็นกันเอง, คุณครูหนูเล่าให้ผมฟังว่า…คุณครูชด หัศบำเรอ ท่านทำงานเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และเป็นนักหนังสือพิมพ์ ท่านมีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษที่ดีมากๆ และใฝ่หาความรู้ทุกๆด้านจากการอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา และด้วยหน้าที่การงานของท่านนี่เอง ครั้งหนึ่งท่านจึงเคยมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ ท่านสวามีศิวะนันทะ คุรุทางด้านโยคะผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ที่เมืองฤษีเกศ ประเทศอินเดีย ซึ่ง ณ ตอนนั้นคุณครูชด หัศบำเรอ น่าจะอายุประมาณ 40กว่าๆ และเป็นช่วงที่กำลังมีปัญหาทางด้านสุขภาพเล็กๆน้อยๆ นั่นก็คือ เริ่มจะเป็นโรคความดันสูง, เป็นฝีคัณฑสูตร และ มีน้ำหนักตัวเยอะ(เริ่มจะอ้วนขึ้นเรื่อยๆ) หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ พูดคุยกับท่านสวามีศิวะนันทะ จึงทำให้คุณครูชด หัศบำเรอ ตัดสินใจหันมาเริ่มฝึกโยคะกับท่านสวามีศิวะนันทะ และเริ่มทานอาหารมังสวิรัติ ภายใต้แนวคิดที่ว่า โยคะ สามารถ ช่วยบำบัดได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ความเจ็บป่วยต่างๆทางด้านสุขภาพของเรา ส่วนใหญ่มักมีผลสืบเนื่องมาจาก สภาวะของจิตใจที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง ถ้าเรามีสภาวะของจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง สุขภาพร่างกายของเราก็จะแข็งแรง สมบูรณ์ด้วยเช่นกันแน่นอน การฝึกโยคะช่วยได้
หลังจากที่คุณครูชด ได้นำการฝึกโยคะกลับมาฝึกด้วยตนเอง และทานอาหารแบบมังสวิรัติ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็พบว่าอาการความดันโลหิตสูงของท่านค่อยๆลดลงและดีขึ้นจนเป็นปกติ, ฝีคัณฑสูตรก็ค่อยๆฝ่อและยุบลงไป, น้ำหนักตัวก็ค่อยๆลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ คุณครูชด หัศบำเรอ จึงตั้งปณิธาณว่าจะฝึกโยคะและทานอาหารแบบมังสวิรัติแบบนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งชีวิต และจะถ่ายทอด เผยแพร่ ส่งต่อ องค์รวมความรู้ทางด้านโยคะเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นในสังคมได้มีสุขภาพองค์รวมที่ดี สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ในแบบยั่งยืน
คุณครูชด หัสบำเรอ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุดแสนจะเรียบง่าย จนกระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ยังคงสอนโยคะ และได้ลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยความชราในวัยเกือบๆ 89ปี ฝากไว้ซึ่งองค์รวมความรู้ทางด้านโยคะ ให้ศิษย์รุ่นลูก รุ่นหลาน อย่างพวกเราได้ร่วมด้วยช่วยกันสืบสานเจตนารมณ์ของท่านสืบต่อไป
ตัวอย่างการใช้ชีวิตของคุณครูชด หัศบำเรอ บรมครูโยคะของเมืองไทย ทำให้เราตระหนักคิดได้ว่า ชีวิตนี้ซึ่งเป็นของเรา เราควรใช้มันอย่างคุ้มค่า และใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ทั้งเป็นประโยชน์ในส่วนของตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในสังคม ถ้าเราต้องการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีชีวิตที่ยืนยาว เราควรต้องหมั่นคอยดูแล เราควรจัดสรรเวลาเพื่อหันมาดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของเราตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไป อย่าให้คำว่า”ไม่มีเวลา” มาบั่นทอนชีวิต มาบั่นทอนสุขภาพร่างกายและจิตใจของเรา
ในฉบับหน้า ผมขอเกิ่นไว้นิดหนึ่งก่อนเลยนะครับ ว่าผมจะขอกล่าวถึง แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ คุณครูหนู(ชมชื่น สิทธิเวช) คุณครูโยคะระดับอาวุโส บรมครูโยคะหมายเลขหนึ่งของเมืองไทย ในตอนนี้ ว่าท่านหันมาฝึกโยคะได้อย่างไร และการเริ่มมาฝึกโยคะครั้งแรกของคุณครูหนูเป็นอย่างไร โปรดติดตามอ่าน ตอนต่อไป อย่าพลาดเชียวนะครับ!!!
ขอกราบขอบพระคุณ คุณครูหนู(ชมชื่น สิทธิเวช) สำหรับข้อมูลทั้งหมดในการเขียนบทความนี้
No comments yet.