ตามรอยกูรูโยคะเมืองไทย แรงบันดาลใจ ในการดูแลสุขภาพองค์รวมแบบยั่งยืน(ภาค2..บรมครูโยคะของเมืองไทย คุณครูหนู, ชมชื่น สิทธิเวช)
ตามรอยกูรูโยคะเมืองไทย แรงบันดาลใจ ในการดูแลสุขภาพองค์รวมแบบยั่งยืน(ภาค2..บรมครูโยคะของเมืองไทย คุณครูหนู, ชมชื่น สิทธิเวช)
ในยุคปัจจุบัน การฝึกโยคะ ถือเป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในเมืองไทย มีผู้ที่หันมาฝึกโยคะอย่างมากมาย ครูสอนโยคะก็มีไม่ใช่น้อย
แต่ถ้าจะขอกล่าวถึงบรมครูโยคะที่ได้รับการยอมรับนับถือ จากพวกเราทุกๆคนในวงการโยคะในยุคปัจจุบันนี้ บุคคลท่านนี้คงจะเป็นใครไปไม่ได้ ท่านคือ คุณครูหนู, ชมชื่น สิทธิเวช ด้วยประสบการณ์ที่แสนจะยาวนานในการสอนโยคะ ท่านจึงมีลูกศิษย์มากมายอยู่ทั่วประเทศ (ตัวผมเองก็น่าจะนับได้ว่า เป็นลูกศิษย์ของคุณครูหนู ด้วยเช่นกันนะครับ อิๆๆ)
ผมมีโอกาสดีๆได้นัดเข้ามาสัมภาษณ์คุณครูหนู (ชมชื่น สิทธิเวช) นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาพูดคุยกับบรมครูโยคะแถวหน้าของเมืองไทย สืบเนื่องจากความสงสัยใคร่อยากรู้ ส่วนตัวของผมล้วนๆเลยล่ะครับ แต่ผมเองก็แอบคิดว่า ชาวโยคะหลายๆท่าน ก็น่าจะอยากทราบถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน
นั่นก็คือ..สาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณครูหนู (ชมชื่น สิทธิเวช) บรมครูโยคะแถวหน้าของเมืองไทย เริ่มหันมาฝึกโยคะ ในยุคสมัยที่เราแทบจะพูดได้เต็มปากเลยล่ะครับ ว่า ณ ยุคนั้นคงไม่ค่อยมีใครสักกี่คนนัก ที่รู้จักกับการฝึกโยคะ
คุณครูหนูเล่าถึงสาเหตุของการเริ่มต้นหันมาฝึกโยคะครั้งแรกให้ผมฟัง ด้วยแววตาแห่งความสุข และมีรอยิ้มบนใบหน้า รวมถึงหัวเราะเบาๆเป็นระยะๆ ในขณะที่ได้สนทนากับผมถึงเรื่องนี้
คุณครูหนู เล่าว่าจำไม่ได้ว่าตอนนั้น พ.ศ. อะไร แต่จำได้ว่า ตอนที่เริ่มฝึกโยคะครั้งแรก คุณครูหนูอายุน่าจะเพิ่ง 19ปี, สาเหตุสำคัญของการที่คุณครูหนูหันมาฝึกโยคะก็เพราะว่า เป็นคนที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง รูปร่างบอบบาง มักมีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเสมอๆ บางครั้งปวดประจำเดือนจนถึงขั้นเป็นลมล้มฟุบไปเลยก็เคยมี ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ในกรุงเทพฯมีอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น จึงทำให้คุณครูหนู เกิดสภาวะของอาการเป็นโรคภูมิแพ้แบบเรื้อรังตามมาด้วย
ด้วยการที่คุณครูหนู ได้เกิดมาในครอบครัวซึ่งมีคุณพ่อ, คุณแม่ และคุณปู่ เป็นแพทย์แผนโบราณ ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องยาสมุนไพรและธรรมชาติบำบัด คุณครูหนูจึงมีความคิดว่า การที่จะไปพบแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อตรวจวินิจฉัยอาการดังกล่าวที่ตนเองเป็นอยู่ แล้วรับยากลับมาทาน คงจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงจากภายใน น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมมากกว่า และน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างถูกวิธีที่สุด
คุณครูหนู จึงหันมาหากิจกรรมการออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยบำบัด อาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง และอาการภูมิแพ้แบบเรื้อรังที่เป็นอยู่ ประจวบเหมาะกับในช่วงเวลานั้น คุณครูหนู ชอบอ่านหนังสือ ในคอลัมน์ที่เกี่ยวกับการแนะนำ/ตอบคำถามทางด้านสุขภาพ ของนิตยสารต่างๆ เช่น ขวัญเรือน, ลลนา และบางกอกโพสท์ แล้วก็พบว่าอาการที่ตนเองเป็นอยู่นั้น มีทางแก้ ด้วยการฝึกโยคะ และที่สำคัญมากๆก็คือ ผู้ที่เขียนคอลัมน์ดังกล่าวของหนังสือ ที่กล่าวมานี้ ก็ไม่ใช่ใครอื่น ท่านก็คือคุณครูชด หัศบำเรอ นั่นเอง
คุณครูหนู กลายมาเป็นแฟนคลับ ติดตามอ่านคอลัมน์ของคุณครูชด เป็นประจำสม่ำเสมอ จนทราบว่าคุณครูชดได้เปิดบ้าน สำหรับสอนโยคะเพื่อสุขภาพ ในช่วงเย็นหลังเลิกงาน ให้กับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจที่จะฝึกโยคะ (ณ ตอนนั้น บ้านของคุณครูชด น่าจะอยู่แถวๆซอยวัฒนโยธิน หรือ ซอยรางน้ำ) คุณครูหนู จึงเดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์และเริ่มฝึกโยคะภายใต้คำแนะนำของคุณครูชด หัศบำเรอ
ผมแอบกระซิบถามคุณครูหนูนิดหนึ่งในตอนนี้ว่า คุณครูครับ!!! คุณครูพอจะจำความรู้สึกครั้งแรก ในตอนที่ได้ฝึกโยคะกับคุณครูชด หัศบำเรอ ได้ไหมครับ???
คุณครูหนู นิ่งอยู่แค่เพียงเสี้ยววินาที ด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และตอบผมว่าครูยังคงจำได้ ครูไม่เคยลืม ตอนนั้นครูน่าจะรูปร่างผอมบางมาก พอฝึกเสร็จ คุณครูชดมักจะสั่งให้ครูกลับบ้านไปทานข้าวเยอะๆ จะได้มีน้ำมีนวล มีเรี่ยวแรง มีพลัง เมื่อพูดประโยคนี้เสร็จ..คุณครูหนูก็หัวเราะเบาๆอย่างมีความสุข สีหน้า แววตา ของคุณครูหนูบ่งบอกอย่างชัดเจน ถึงความเคารพ ความรัก ความศรัทธา ที่มีอย่างเต็มเปี่ยมต่อคุณครูชด หัศบำเรอ
คุณครูชด หัศบำเรอ มีหลักและวิธีการสอนโยคะที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน เน้นให้ผู้ฝึกค่อยๆเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสภาวะร่างกายและจิตใจของตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ว่าต้องมีระเบียบวินัยกับตนเอง และมีการฝึกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจึงจะค่อยๆเห็นผลของการฝึก
คุณครูหนูฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้คำแนะนำของคุณครูชด หลังจากที่ฝึกได้แค่เพียง3เดือนเท่านั้น อาการภูมิแพ้ และปวดประจำเดือนก็หายไปอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อฝึกไปได้สักระยะหนึ่ง คุณครูหนู มีความเข้าใจในชุดท่าฝึกที่ชัดเจนแล้ว ก็เริ่มฝึกฝนด้วยตนเองที่บ้าน และมาฝึกกับครูชดน้อยลง
เหตุที่ทำให้คุณครูหนู มีอันต้องกลับมาที่บ้านของคุณครูชด อีกครั้ง ก็คือการที่คุณครูชดได้ย้ายบ้านมาอยู่แถวๆย่านเอกมัย คุณครูชด ประสบอุบัติเหตุ ตกบันได ข้อเท้าแพลง เดินไม่ค่อยสะดวก ด้วยความศรัทธาที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมต่อคุณครูชด คุณครูหนูจึงได้มาช่วยคุณครูชดสอนที่บ้านโยคะเอกมัย คุณครูหนูทำหน้าที่คอยช่วยดูแลทุกๆอย่างภายในบ้าน ประหนึ่งว่าเป็นลูกสาวของคุณครูชด หัศบำเรอ อีกคนหนึ่งก็ว่าได้ และเช่นกัน คุณครูหนู ก็นับถือคุณครูชด หัศบำเรอ เหมือนคุณพ่อ ในภายหลังคุณครูหนูจึงเรียกคุณครูชด ว่าพ่อ และเรียกติดปากมาจนถึงทุกวันนี้
การได้มาช่วยสอน มาช่วยดูแลทุกๆสิ่ง ทุกๆอย่าง อย่างใกล้ชิด แบบที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆทั้งนั้น ทำให้คุณครูหนูได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ในการสอนโยคะสืบต่อจากคุณครูชด โดยตรง
ด้วยความที่คุณครูชด ฝึกโยคะมาอย่างยาวนาน ท่านจึงพอจะรู้ได้ถึงเวลาชีวิตของตนเองเป็นอย่างดี คุณครูชด จึงได้สั่งเสียทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับลูกๆหลานๆและบรรดาลูกศิษย์ที่คอยมาช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดแบบล่วงหน้า และให้เตรียมพร้อมกับ วาระสุดท้ายวันที่คุณครูชด หัศบำเรอจะต้องลาจากโลกนี้ไป แล้วเมื่อถึงเวลาที่ครูชด ได้บอกกับทุกๆคนไว้ คุณครูชด หัศบำเรอ ก็ได้จากโลกนี้ไปอย่างเรียบง่าย อย่างสงบ
นับจากนั้นเป็นต้นมา คุณครูหนู ก็สานต่อเจตนารมณ์การสอนโยคะมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าวิถีแห่งโยคะ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเหลือดูแลสุขภาพองค์รวมของทุกๆคนได้ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจในแบบที่ยั่งยืน ด้วยการที่เราพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ
คงไม่ต้องบอกนะครับว่าปัจจุบันคุณครูหนู อายุเท่าไหร่แล้ว แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคนในวัยเดียวกัน คุณครูหนู จะดูสดใส แข็งแรง และอ่อนวัยกว่าคนในวัยเดียวกันเยอะพอสมควรเลยล่ะครับ และก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่หลายๆคนหันมาฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีคุณครูหนู ชมชื่น สิทธิเวช เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตนั่นเอง
(ใครอยากทราบอายุของคุณครูหนู ลองไปสืบดูเอาเองละกันนะครับ อิๆๆ)
ผมมีความสุขมากๆที่ได้มีโอกาสเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวนี้สู่ชาวโยคะทุกๆท่าน
ขอกราบขอบพระคุณ คุณครูหนู, ชมชื่น สิทธิเวช สำหรับข้อมูลทุกๆอย่างในบทความทั้ง 2ตอนที่ผมได้มีโอกาสเขียน
ขอพลังแห่งโยคะ ความรัก ความศรัทธา และสันติสุข จงอยู่กับพวกเราทุกๆคนตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง นมัสเต
No comments yet.